เกณฑ์การยอมและการวิเคราะห์ผลการวัด

เกณฑ์การยอมและการวิเคราะห์ผลการวัด

28 มีนาคม 2566

เขียนโดย : ศุภวัฒน์ คำเวียง
ฝ่ายสอบเทียบ



สวัสดีครับทุกท่าน ถ้าจะกล่าวถึงเรื่องคุณภาพของการวัดว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร มีเกณฑ์ในการตัดสินใจอย่างไรว่าเครื่องมือที่สอบเทียบไปนั้น “ดี” หรือ “ไม่ดี” การตัดสินว่าเครื่องมือหรือคุณภาพของการวัดนั้นดีหรือไม่ดีต้องอาศัยสิ่งหนึ่งในการตัดสินใจ นั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า “เกณฑ์การยอมรับ” เราจึงต้องมาทำความรู้จักก่อนว่าเกณฑ์การยอมรับคืออะไร และมีวิธีตั้งเกณฑ์การยอมรับนี้อย่างไร


“เกณฑ์การยอมรับ” คือค่าที่ใช้ในการตัดสินว่าผลการวัดนั้นผ่านตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ในบางครั้งจะเรียกว่าค่าความผิดพลาดสูงสุดที่ยอมรับได้ (Maximum Permissible Error) หรือ MPE

วิธีตั้งค่าเกณฑ์การยอมรับ
การตั้งค่าเกณฑ์การยอมรับนั้นก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่พบบ่อยมากๆเช่นเดียวกัน ปัญหาที่มักจะเจอบ่อยๆก็คือจะมีวิธีตั้งค่าเกณฑ์การยอมรับอย่างไร เดี๋ยวเราจะมาทำความเข้าใจกันว่าเราจะมีวิธีตั้งเกณฑ์การยอมรับได้อย่างไรบ้าง

1.ใช้เกณฑ์มาตรฐานนานาชาติ เป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ยอมรับกันในระดับนานาชาติ หรือเป็นเกณฑ์มาตรฐานสากล เช่นJIS, ISO, BS หรือ AS Standard
ตัวอย่าง Vernier Range 0-150 mm ความละเอียด 0.01 mm ให้ค่า MPE อยู่ที่ไม่เกิน +/- 0.03 mm เป็นต้น
ข้อดี : หาข้อมูลที่จะใช้เป็นเกณฑ์ง่าย ศึกษาจากมาตรฐานที่ระบุไว้ให้ได้เลย
ข้อเสีย : ต้องเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสม และมีค่า Accuracy ที่ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานระบุ

2.ใช้เกณฑ์มาตรฐานแห่งชาติ เป็นเกณฑ์มาตรฐานของแต่ละประเทศ เช่น มาตรฐานอุตสาหกรรมก็ต้องอ้างอิงใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)
ข้อดี : หาข้อมูลที่จะใช้เป็นเกณฑ์ง่าย ศึกษาจากมาตรฐานที่ระบุไว้ให้ได้เลย
ข้อเสีย : ต้องเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสม และมีค่า Accuracy ที่ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานระบุ

3.ใช้เกณฑ์การยอมรับจากสเปคของของเครื่องมือที่ทางผู้ผลิตระบุ
ข้อดี : หาข้อมูลที่จะใช้เป็นเกณฑ์ง่าย สามารถดูจากคู่มือได้เลย
ข้อเสีย : เมื่อใช้เครื่องมือไปเป็นระยะเวลานานๆ จะควบคุมให้เครื่องมืออยู่ในสเปคยากตามอายุการใช้งาน

4. กำหนดเองจากงานที่เราต้องการวัด เช่น อาจกำหนดจากความคลาดเคลื่อนของชิ้นงานที่ผู้ใช้งานกำหนด หรือความคลาดเคลื่อนที่จะทำให้การผลิตผิดพลาด โดยต้องใช้หลักการของ ISO 10012 โดยการใช้กฎที่ว่าเกณฑ์ของเครื่องมือที่ใช้วัดต้องดีกว่า 3 - 10 เท่าของสิ่งที่ถูกวัด
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใช้งานกำหนด Spec ชิ้นงานมาว่า ต้องการผลิตท่อขนาด 100mm +/- 1mm ใช้เกณฑ์การยอมรับของเครื่องมือที่ใช้วัดต้องดีกว่าเกณฑ์การยอมรับของท่อที่นำไปวัด 3-10 เท่า
ดังนั้นจะคำนวนค่าเกณฑ์การยอมรับของเครื่องมือวัดได้จาก
1mm /3 = 0.33 mm
หรือ 1mm /10 = 0.1 mm
ดังนั้นควรกำหนดเกณฑ์ยอมรับให้อยู่ในช่วง 0.1mm ถึง 0.33mm
โดยทั่วไปนิยมตั้งเกณฑ์การยอมรับให้ดีกว่าเกณฑ์ของสิ่งที่นำไปวัด 4 เท่า คือ 1/4 = 0.25 mm
ข้อดี : สามารถระบุเกณฑ์การยอมรับได้ตามความเหมาะสม
ข้อเสีย : ต้องศึกษาข้อมูลของวิธีการคิดและต้องมีเกณฑ์การยอมรับของสิ่งที่นำไปวัดอยู่แล้ว



ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของทางผู้ใช้งานเองว่าจะเลือกวิธีใดที่คิดว่าเหมาะสมกับงานของตัวเองมากที่สุด และเมื่อได้เกณฑ์การยอมรับมาแล้วเราก็นำผลที่ได้จากการสอบเทียบไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์การยอมรับเพื่อตัดสินว่าเครื่องมือนั้น“ดี” หรือ “ไม่ดี” ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการต่อไป

เพียงเท่านี้เราก็สามารถตัดสินใจได้แล้วว่าเครื่องมือของเรานั้นยังดีอยู่หรือไม่ดีแล้วแต่ก็ใช่ว่าเครื่องมือที่ไม่ดีแล้วนั้นเราจะต้องทิ้งไปเลยนะครับ ในส่วนของงานสอบเทียบนั้นยังมีอีกวิธีที่จะสามารถทำให้เครื่องมือที่ไม่ดีแล้วนั้นกลับมาดีหรืออยู่ในเกณฑ์การยอมรับที่ระบุไว้ได้ สิ่งนั้นเรียกว่า “การปรับเทียบ” ซึ่งเราจะมาคุยกันต่อในครั้งถัดไปนะครับ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า Tips นี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านนะครับ



ลงทะเบียนรับข่าวสาร

กรอกอีเมลเพื่อรับข่าวสาร โปรโมชั่น และกิจกรรมต่างๆ ของเราได้ที่นี่

fb twitter youtube youtube shopee lazada tiktok blockdit

เข้าสู่ระบบ

สมัครสมาชิก

ลืมรหัสผ่าน

สินค้าที่ต้องการเปรียบเทียบ

0